อัตราหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันนี้ยังถือว่าชะลอลงจากปีก่อนๆอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่สู้ดีนัก เพิ่มขึ้นจากเมื่อปลายปีก่อนเล็กน้อยโดยเป็นการขยายตัวของสินเชื่อกลุ่มที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล มีทิศทางชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะประชาชนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ภายหลังจากสภาพเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาลง โดยเศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในภาวะที่คนไม่มีรายได้หรือมีรายได้ลดลง ไม่ใช่ภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ซึ่งการที่คนมีรายได้ลดลงนั้นเป็นผลกระทบมาจากเศรษฐกิจในภาพใหญ่ที่ชะลอตัวลง ความสามารถในการนำเข้าสินค้าลดลง ก็ส่งผลกระทบมาถึงไทย ทำให้ส่งออกสินค้าไม่ได้ เมื่อขายของไม่ได้ รายได้ก็ไม่มี เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ
โดยครัวเรือนที่เผชิญปัญหาหนี้สินต่อรายได้ในระดับสูงมักกระจุกตัวในกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำและไม่แน่นอน เช่น กลุ่มอาชีพลูกจ้างรายวัน กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นจากภาระหนี้จ่ายและยอดหนี้สินคงค้างที่ค่อนข้างเต็มสัดส่วนต่อรายได้ ขณะที่การก่อหนี้ใหม่ของกลุ่มดังกล่าวคงเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพ รับมือกับเหตุฉุกเฉินหรือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นหลัก ซึ่งคงไม่ใช่แรงหนุนที่ผลักดันการขยับขึ้นของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยในระยะถัดไป
การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนยังคงมีลักษณะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่มากนักจากค่าจ้างขั้นต่ำที่คงที่และราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ทำให้ครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายสินค้าคงทน ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานรายได้ปานกลางและรายได้น้อยจะชะลอการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่ม เนื่องจากไม่สามารถรับภาระหนี้เพิ่มและกู้เพิ่มไม่ได้ สอดคล้องกับการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมาตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ และจำเป็นฉุกเฉินต่างๆ นอกจากนี้นโยบายนาโนไฟแนนซ์ของรัฐบาลในอนาคตอาจจะมีส่วนทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้ แม้จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบ